กินชะลอวัย ไกลโรค ด้วยอาหารคลีน (ตอน คลีนฟู้ดกับ 5 สูตรเนรมิตสุขภาพดี)
หากจะหาอาหารที่เข้าข่ายคลีนนั้น ไม่ยากอย่างที่คิด เพราะมีอยู่ในอาหารแบบไทยๆ เราเป็นส่วนใหญ่ ดังจะขอฝากตัวอย่างไว้ให้ชาวคนสู้โรค ได้ลองชิมกันดู ขอเน้นแบบที่ “ทำง่าย” และประหยัดเวลานะครับ เพื่อให้สะดวกกับหลายๆ ท่าน
🌽 ข้าวแกงกะหรี่ไก่คลีน เพื่อให้ท่านสะดวกสุด ขอให้ใช้ “ก้อนแกงกะหรี่สำเร็จรูป” แบบของญี่ปุ่นใส่ลงไป ใส่ผักอย่าง มันฝรั่ง, หัวหอมใหญ่และแอปเปิ้ลหั่นลงไป ใช้อกไก่เป็นโปรตีนหลัก รับประทานกับข้าวกล้องร้อนๆ แสนอร่อย
🌽 น้ำพริกทูน่าคลีน แทนที่จะใช้ปลาทูทอดที่ต้องมีน้ำมันท่วมก็ใช้ “ทูน่ากระป๋อง” แทน อนุโลมให้เป็นอาหารคลีนได้ ให้ตำน้ำพริกแบบทั่วไปแต่ “ไม่เค็มจัด” โขลกพริก, กระเทียม, หอมเติมไป ใส่เกลือไอโอดีนแทนน้ำปลาและกะปิ แล้วรับประทานกับผักลวก หรือนึ่ง
🌽 สลัดไข่คลีน เหมือนสลัดไข่ทั่วไปเพราะไข่ถือเป็นอาหารคลีน จะเป็นไข่ต้ม, ไข่อบหรือไข่ปิ้งก็ได้ ใส่กับผักสดตามชอบ ที่แนะนำคือ บร็อคโคลีและมะเขือเทศ ส่วนน้ำสลัดขอให้เป็นน้ำใสหรือน้ำมันมะกอกแทนน้ำข้น รับรองว่าไขมันลดแต่อร่อยเพิ่ม
🌽 สเต็กคลีน ใช้การอบแทนการทอด ใช้การย่างได้ โดยเลือกเนื้อไม่ติดมัน เช่น อกไก่คลีน สันในหมูคลีน พอร์คช็อปคลีน ปรุงรสได้โดยใช้พริกไทย, กระเทียมผงและใส่เกลือให้น้อย รับประทานกับผักย่างและข้าวกล้องเป็นไซด์ดิช แทนมันฝรั่งทอด เป็นสุดยอดอาหารสร้างกล้ามเนื้อ
🌽 ไข่พะโล้คลีน สามารถดัดแปลงพะโล้ให้เป็นอาหารคลีนแสนอร่อยแถมเก็บไว้กินนานได้ ด้วยวิธีง่าย ๆ คือใช้ผงพะโลสำเร็จได้ แต่ขอให้เลือกชนิดที่เป็น “เครื่องเทศล้วน” อย่ามีผงชูรส หรือน้ำตาลปนเข้ามา แล้วก็หาเนื้อหมูหรือไก่แบบไม่ติดมัน มาใส่เพิ่มในพะโล้ก็ได้ โดยเน้นว่า ไม่เติมเค็มเกินไปจากซีอิ๊ว
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงโหมโรงของอาหารคลีนบางส่วนเท่านั้น เพราะเชื่อว่าทุกท่านที่อ่านอยู่สามารถทำได้หลากหลายกว่าที่ผมแนะนำ ยกตัวอย่างว่าอาจต่อยอดสเต็กคลีนเป็นหมูปิ้งคลีน, สเต็กปลาดอรี่คลีน หรือปลานึ่งซีอิ๊วคลีนก็ยังได้ หรือถ้าเบื่อสลัดเพราะเคี้ยวจนกรามยืด ก็เปลี่ยนเป็น “สุกี้คลีน” ใส่ผักรวมไม่ใส่วุ้นเส้นแล้วผัดใส่เต้าหู้ยี้น้อยๆ ปรุงรสด้วยเกลือทะเลแทน จะได้ไอโอดีนเพิ่ม เพียงเท่านี้ท่านก็จะได้อาหารคลีนแสนถูกปาก แถมสะดวกด้วยเพราะแม้ตามร้านอาหารตามสั่งก็ทำได้
ท่านสามารถทำให้ทุกจานที่เคยรับประทาน “คลีน” ได้หมดโดยไม่ต้องอดอร่อย กินคลีนบ่อย ๆ อร่อยแถมได้สุขภาพดีด้วย
ที่มา : เว็บไซต์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช ,พบ.(จุฬาฯ) ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ (American Board of Anti-aging medicine) และขอขอบคุณข้อมูลจาก คนสู้โรค ไทยพีบีเอส