ไขมันสะสมเพิ่มนมเพิ่มโรค
หลายคนคงจะเคยได้ยินว่า คนอ้วนจะมีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงชนิด เอสโตรเจน (Estrogen) ได้มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งก็พบว่าเป็นความจริง เนื่องจาก เอสโตรเจน เกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) หรือ ฮอร์โมนเพศชาย โดยอาศัยเอนไซม์ที่ชื่อว่า อะโรมาเตส (Aromatase) เป็นตัวเปลี่ยน อะโรมาเตส พบได้มากในไขมันบริเวณใต้ชั้นผิวหนัง (Subcutaneous fat) และไขมันที่สะสมบริเวณอวัยวะภายในของร่างกาย (Visceral fat) แต่อะโรมาเตสที่พบบริเวณไขมันใต้ชั้นผิวหนังจะทำงานได้มากกว่านั่นเอง (Higher Aromatase activity)
โดยทั่วไป ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จะต้องมีฮอร์โมนทั้ง 2 อย่างในร่างกายเพียงแต่จะมีปริมาณและสัดส่วนที่แตกต่างกัน เทสโทสเทอโรนเป็นฮอร์โมนในกลุ่มที่ช่วยในการสร้างเสริมร่างกาย (Anabolic hormone) ช่วยในการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และทำให้มีสุขภาพทางเพศที่ดี ดังนั้น เมื่อเรามีไขมันมากขึ้น โดยเฉพาะในคนที่อ้วน จึงทำให้ระดับของเทสโทสเทอโรนในร่างกายลดน้อยลง ซึ่งผลดังกล่าวจะเห็นชัดในผู้ชาย ซึ่งจะทำให้มัปัญหามีเต้ามนมคล้ายผู้หญิง (Gynecomastia) ลงพุง (Abdominal Obesity) กล้ามหาย ไขมันยิ่งมากขึ้นในส่วนต่าง ๆ ตามร่างกาย ไม่ค่อย active ไม่ alert เหนื่อยเพลียง่าย ออกกำลังกายไม่ค่อยไหว นอกจากนี้แล้วการที่ฮอรืโมนเทสโทสเทอโรนลดลงก็ยังทำให้เซ็กส์เสื่อมได้ อวัยวะเพศแข็งตัวได้น้อยลงกว่าเดิมได้ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลรวมมาจาก เทสโทสเทอโรนที่ต่ำลง และ เอสโตรเจนที่สูงมากขึ้นนั่นเอง
ดังนั้น สำหรับ หนุ่ม ๆ ต้องไม่ปล่อยให้ตัวเองอ้วนนะครับ หรือ หากอ้วนอยู่แล้ว ก็ต้องพยายามลดไขมันในร่างกายให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับทั้งอาหารการกิน ออกกำลังกาย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำ 3 อย่างนี้ควบคู่กัน เพราะทำให้ประสบผลสำเร็จในการลดน้ำหนักได้มากที่สุด จะเห็นได้ว่า แค่ไขมันที่เพิ่มขึ้นอย่างเดียวนั้น ก็ส่งผลต่อร่างกายเราได้มากมายหลายระบบ เหมือนที่เค้าบอกไว้ว่า #ลดพุงลดโรค นั่นเองครับ
ขอขอบคุณ : บทความโดย นพ.เสฏฐวุฒิ งามเมธิชัยวงศ์ (หมอตั้ม)
แพทย์วุฒิบัตรด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและสมาคมเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ ประเทศสหรัฐอเมริกา (American Board of Anti-Aging and Regenerative Medicine)
เจ้าของผลงานหนังสือ Best seller 2 เล่ม “Anti-Aging รู้ก่อนใครชะลอวัยก่อนเพื่อน” ปี 2559 และ “กู้ร่างกลับฉบับชะลอวัย” ปี 2560