“หมูกระทะ” ภัยร้ายต่อสุขภาพ ‼️
วัยรุ่นหรือคนทำงานสมัยนี้นิยมทานบุฟเฟต์ หมูกระทะกันเยอะ พูดถึงความอร่อยก็คงบอกไม่ถูก ถ้าไม่ได้ไปลองชิมด้วยตัวเอง แต่ถ้าพูดถึงอันตรายแล้วคงสามารถนึกภาพออกได้ตามๆ กัน มาดูกันว่าสิ่งที่พวกเราแต่ละคนชอบกันนักหนา มันจะอันตรายมากน้อยแค่ไหน
👉 เนื้อหมู
อาจมีเชื้อชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้รับเชื้อเกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน หูหนวก ชักกระตุก หรืออาจเป็นอัมพาต บางรายอาจปอดอักเสบ สายตาพร่ามัว และอาจหูหนวกถาวรได้ หากบางคนยังชอบรับประทานอาหารที่ไม่สุกอยู่ ซึ่งการกินอาหารแบบสุกๆ ดิบๆ อาจจะนำมาซึ่งโรคภัยต่างๆ ได้
👉 ผ้าขี้ริ้ว
อาจปนเปื้อนสารฟอกขาว ซึ่งสารฟอกขาวจะใช้ฟอกสีของผ้าขี้ริ้วจากสีดำให้เป็นสีขาวน่ากินมากขึ้น หากบริโภคเข้าไปในปริมาณที่มากอาจจะทำให้หายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ ปวดท้อง อาเจียน อุจจาระร่วง สำหรับคนที่แพ้หรือคนเป็นหอบหืดอาจมีอาการช็อค หมดสติ และเสียชีวิตจากการกินสารนี้เข้าไปก็ได้
👉 อาหารทะเลต่างๆ อาทิ กุ้ง แมงกะพรุน ปลาหมึกสด และปลาหมึกกรอบ
อาจปนเปื้อนสารฟอร์มาลีน สารตัวนี้ใช้เพื่อทำให้อาหารคงความสด กรอบ มักจะใช้ในจำพวกอาหารทะเล หากร่างกายของเรานั้นได้รับสารฟอร์มาลีนจะส่งผลต่อการทำงานของไต หัวใจ และอาจทำให้สมองเสื่อม ถ้าได้รับในปริมาณที่มาก หรือร่างกายแพ้สารนี้ จะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน หมดสติถึงขั้นเสียชีวิตได้
👉 อาหารแปรรูป ลูกชิ้น ไส้กรอก
อาจปนเปื้อนสารบอแร็กซ์ ใช้เพื่อให้อาหารกรอบอร่อย หากร่างกายได้รับสารนี้ในปริมาณมากจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นพิษต่อไต ก่อให้เกิดไตวาย และเป็นอันตรายต่อสมอง
👉 สารอันตราย 3 ชนิด
ทั้งนี้การรับประทานอาหารปิ้งย่างหรือรมควันเป็นประจำจะเสี่ยงต่อการได้รับสารอันตราย 3 ชนิด
1. สารไนโตรซามีน (nitrosamines) พบในปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่าง และในเนื้อสัตว์ที่ใส่สารไนเตรท ประเภทแหนม ไส้กรอก เบคอน แฮม ที่มีสีแดงผิดปกติ ทำให้เสี่ยง สารก่อมะเร็ง ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร
2. สารพัยโรลัยเซต (Pyrolysates) พบมากในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหาร ปิ้ง ย่าง สารกลุ่มนี้บางชนิดมีฤทธิ์ร้ายแรงทางพันธุกรรมมากกว่าสารอะฟลาทอกซินตั้งแต่ 6-100 เท่า
3. สารพีเอเอช หรือสารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbon) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่เกิดในควันไฟ ไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม โดยสารนี้จะพบในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารที่ปรุงด้วยการปิ้ง ย่าง หรือรมควัน ของเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือมันเปลวติดอยู่ด้วย เช่น หมูย่างติดมัน ไก่ย่างติดมัน เนื่องจากขณะปิ้งย่าง ไขมันหรือน้ำมันจะหยดไปบนเตาไฟ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสารพีเอเอช ลอยขึ้นมาพร้อมเขม่าควันเกาะที่บริเวณผิวของอาหาร โดยสารนี้จะมีมากในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้ง ย่าง หากรับประทานเข้าไปเป็นประจำจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ
🔔หากอยากรับประทานขึ้นมาจริงๆ ก็ควรทานในปริมาณที่พอเหมาะ และไม่ควรทานบ่อยจนเกินไป เพราะอาหารที่เราทุกคนหลงใหลในความเป็นบุฟเฟต์แบบไม่อั้นนั้นอาจจะผสมไปด้วยโรคภัยที่หลากหลายด้วยเช่นกัน